
สุนัขทุกสายพันธุ์จำเป็นต้องมีมาตรฐานของทุกสายพันธุ์อย่างเป็นทางการ โดยจะประกอบไปด้วยขนาด ลักษณะขน รูปหน้า โครงสร้างร่างกาย และอื่นๆ ที่ปรากฎ โดยเหมารวมไปถึงลักษณะท่าทางในการใช้ชีวิตด้วย
สุนัขชิสุนั้นถูกจัดอยู่ในหมวดสุนัขพันธุ์เล็กหรือที่ชาวต่างชาติเรียกว่า ทอยกรุ๊ป โดยมีเพื่อนในกลุ่มนี่อีก 20 สายพันธุ์ด้วยกัน ลักษณะสัดส่วนที่สมส่วนของชิสุคือ สูงระหว่าง 9 – 10.5 นิ้ว น้ำหนักอยู่ระหว่าง 4.08 – 7.25 กิโลกรัม สำหรับช่วงโตเต็มวัย หากน้ำหนักน้อยกว่านั้นจะส่งผลให้ชิสุมีโครงสร้างกระดูกที่เล็กกว่าปกติ ศีรษะกลมมนและกว้าง ดวงตากลมโต กระโหลกเป็นรูปโดม จมูกกลมกว้างและเปิดเชิดขึ้น สีผิวคล้ำเข้มบริเวณจมูก ริมฝีปาก ขอบตา หางตั้งขึ้น หน้าอกกว้างลึกและผายออก มีขนตัวสองชั้นหนานุ่มยาวพริ้วไหว และขนหางยาวตั้งม้วนขึ้น
สีสันของชิสุ
สีขนของชิสุตามมาตรฐานนั้นมีอยู่ 8 สีด้วยกัน ซึ่งในบางตัวก็มีมากกว่าสีเดียวได้ โดยสีที่ชิสุมีนั้นได้แก่ สีดำ สีน้ำเงิน สีตับ สีน้ำตาล สีทอง สีแดง สีเงิน และสีขาว อาจมีการเปลี่ยนของสีไปเมื่อโตขึ้นแต่ไม่ใช่ทุกตัว เช่น เมื่อตอนช่วงเกิด 8 สัปดาห์แรกขนเป็นสีแดง แต่หลังจากนั้นภายใน 9 เดือนสีแดงก็อาจจะอ่อนลงกลายเป็นสีทองก็ได้ค่ะ
ลายจุดที่มักเกิดบนตัวของชิสุมีอยู่ 4 แบบใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ลายจุดสีดำ ลายจุดสำดำแดง ลายจุดสีขาว และลายจุดหน้ากากดำ โดยลายจุดเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วไปตามร่างกายแต่เฉพาะ ลายจุดหน้ากากดำจะพบแค่บริเวณปาก จมูกและอาจขึ้นไปถึงบริเวณช่วงตาเท่านั้น
ลักษณะขนของชิสุนั้นค่อนข้างจะพิเศษออกไปนิดหน่อยเพราะชิสุจะมีขนสองประเภทคือ ขนลักษณะทั่วไปที่ยาวไม่มาก และหยุดการเติบโตเมื่อยาวได้ระยะหนึ่ง กับขนที่เป็นเหมือนเส้นผมซึ่งจะเติมโตยาวต่อไปเรื่อยๆ จนปกคลุมได้ทั้งตัว แต่ถึงแม้จะมีขนที่ยาวปกคลุมมากมายขนาดนี้แต่ขนที่มีลักษณะเป็นเส้นผมนั้นกลับดูแลจัดการได้ง่ายกว่าเส้นขนแบบทั่วไปของมันเองซะอีก
การเลี้ยงหมาขนยาวทำให้เป็นภูมิแพ้ได้ง่ายจริงหรือ
นั่นก็เป็นเรื่องจริงแต่สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดกันว่า การเลี้ยงสุนัขขนยาวทำให้เราแพ้ขนจนจามและไม่สบายนั้น จริงๆ แล้วเราแพ้ต่อเศษผิวหนังของสุนัขที่หลุดออกมาติดบนขน หรือโปรตีนจากน้ำลายและปัสสาวะของสุนัขเวลาเลียทำความสะอาดต่างหาก ซึ่งก็เกิดขึ้นได้กับสุนัขที่ขนสั้น ขนยาว แทบจะทุกประเภท
เลี้ยงชิสุเพศไหนดี
หลายๆ คนคงเคยได้ยินมาว่า สุนัขเพศเมียมักจะขี้เล่นมากกว่า หรือสุนัขเพศผู้จะจงรักภักดีกับเจ้าของมากกว่าใช่มั้ยคะ สิ่งนั่นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนั้นได้ แต่ในความเป็นจริงนั้นลักษณะนิสัยของสุนัขแต่ละเพศไม่สามารถแบ่งแยกได้ชัดเจนขนาดนั้น โดยทั่วไปแล้วชิสุนั้นมีนิสัยก้าวร้าวเล็กน้อย เจ้าอารมณ์ รักเจ้าของมาก กระตือรือร้นและดื้อรัน แต่ก็แค่โดยพื้นฐานเท่านั้นนะคะ ลักษณะนิสัยอีกส่วนที่เจ้าชิสุเป็นนั้นจะประกอบสร้างมาจากลักษณะการเลี้ยงดูเสียส่วนใหญ่ เพราะนั้นอยากเลือกเพศไหนก็ได้แต่ดูแลเค้าให้ดีก็เพียงพอแล้วค่ะ
เลี้ยงเป็นคู่ ต่างเพศ หรือเพศเดียวกัน แบบไหนจะเวิร์คกว่า
การตัดสินใจที่จะนำสมาชิกครอบครัวคนใหม่มาเพิ่มนั้น อาจสร้างความรู้สึกให้เจ้าสุนัขที่อยู่มาก่อนรู้สึกโดดเดี่ยวและกลัวที่จะถูกทอดทิ้งได้ แต่ก็ไม่ใช่สุนัขทุกตัวซะทีเดียว กลับกันในทางที่ดีเจ้าสุนัขทั้งสองก็อาจกลายเป็นเพื่อนเล่นที่ดีต่อกันได้ แต่อย่างไรก็ตามหากพูดตามนิสัยพื้นฐานของสุนัขแล้ว การยอมรับสุนัขตัวใหม่จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าในสุนัขต่างเพศ เพราะเมื่อเป็นสุนัขเพศเดียวกันมักมีแนวโน้มที่จะแย่งชิงความเป็นเจ้าเหนือหัวของอีกตัวอยู่ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจนำสมาชิกคนใหม่มาเพิ่มก็ลองนึกภาพเจ้าสุนัขตัวโปรดของคุณว่ามีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร ปฏิบัติต่อสุนัขตัวอื่นอย่างไร หากเจ้าสุนัขตัวโปรดคุณเป็นสุนัขที่นิสัยใจกว้างมากๆ อยู่แล้ว ก็ไม่ได้เป็นปัญหาหากต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนใหม่เพศเดียวกันเลย
ชิสุก็ฉลาดพอตัวอยู่น้า
หากคุณทำการดูแหล่งข้อมูลต่างๆ แล้วค้นพบว่า ชิสุมีคะแนนความฉลาดน้อยมาก ซึ่งอยู่ที่ 70 จากทั้งหมด 79 จนทำให้เกิดความน้อยใจขึ้นมาว่าทำไมชิสุของคุณถึงฉลาดน้อยเพียงนี้ อยากจะบอกว่าความฉลาดของสุนัขไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจัดลำดับเสียขนาดนั้น การวัดลำดับนั้น เป็นเพียงการวัดมาตรฐานของกรรมพันธุ์เท่านั้น ซึ่งพูดถึงความฉลาดและทักษะโดยรวม เช่น การจดจำสถานที่ผู้คน การรับรู้ถึงสภาพแวดล้อม การสร้างความสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาเป็นต้น พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็สุนัขทั่วไปสามารถเข้าใจคำศัพท์ของมนุษย์ได้ราว 165 คำ เทียบเท่ากับเด็กอายุสองปี อาจมีมากกว่านั้นบ้าง แต่สำหรับสุนัขในลำดับต้นๆ นั้นอาจจะเป็นข้อยกเว้นนิดหน่อย ด้วยกรรมพันธุ์และวิถีชีวิตที่มีมาเนิ่นนานทำให้ความสามารถทางสายเลือดของพวกเขาแตกต่างจากสุนัขทั่วๆ ไป เช่น สุนัขบอร์เดอร์ คอลลี่ ที่มีความฉลาดเป็นอันดับ 1 จากทั้งหมด มักจะถูกเลี้ยงโดยนายพรานและใช้เป็นสุนัขสำหรับต้อนแกะ มีความสามารถในการเข้าใจคำศัพท์ได้มากกว่า 1,000 คำ นี่เป็นเหตุมาจากสายเลือดและวิถีชีวิตของเจ้าคอลลี่เอง เทียบกับเจ้าชิสุที่นอนสบายอยู่ในบ้านก็ยอมให้หน่อยก็ได้ แต่ถ้าพูดในชีวิตประจำวันเรานั้น ทักษะทั่วไปที่ใช้บ่งบอกว่าฉลาดนั้นชิสุเองก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าใครเราสามารถฝึกฝนเจ้าชิสุของเราให้ฉลาดเก่งกาจได้เช่นกัน
โดยการปล่อยให้เขาได้ใช้สัญชาตญาณของตัวเองบ่อยๆ ให้ออกไปเจอสถานที่ใหม่ๆ ไปเดินเล่นในสวน ปล่อยให้เขาได้ดม ได้ฟัง และสำรวจสิ่งต่างๆ รอบข้าง สิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำหรับความเฉลียวฉลาดและสร้างนิสัยที่ดีแก่เค้า
หัดสอนโดยการใช้คำพูดบ้าง เจ้าชิสุของเรามีความพร้อมและความสามารถที่จะทำมันอยู่แล้ว อาจเริ่มด้วยการเลือกของ 3 สิ่งที่แตกต่างกัน ยกสิ่งหนึ่งขึ้นพร้อมกับพูดชื่อสิ่งนั้นออกไปดังๆ ทำซ้ำไปจนเมื่อคุณคิดว่าเจ้าชิสุของคุณพร้อมที่จะจำมันแล้ว ก็ลองเรียกหาสิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมา และสังเกตว่าเจ้าชิสุมีปฏิกิริยาต่อของสิ่งนั้นมั้ย ถ้าหากเจ้าชิสุทำได้ ก็อย่าลืมพูดชมและให้รางวัลแก่เค้า ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ เพื่อให้เจ้าชิสุจดจำได้อย่างแม่นยำ
ลองให้สุนัขรับคำสั่งคุณ วิธีสอนคล้ายๆ กับวิธีการก่อนหน้า ไม่ใช่เรื่องยากเพียงแค่คุณทำซ้ำมันไปเรื่อยๆ เจ้าสุนัขของคุณจะเริ่มเข้าใจเอง และเมื่อสุนัขคุณทำได้เขาก็จะเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเรื่องพฤติกรรม